Pages

Thursday, July 21, 2011

แม่เลี้ยงศรีทอง อารีวงศ์ ผู้มั่นคงในพระเจ้า

แม่เลี้ยงศรีทอง  อารีวงศ์ ผู้มั่นคงในพระเจ้า

                เรารู้สึกชื่นชมที่แม่เลี้ยงศรีทอง  อารีวงศ์ ได้รับพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้า   ให้ได้มีอายุยืนนานอยู่จนถึง 80 ปี ในวันที่ 2 กันยายน 2001
ท่านเป็นภริยาของนายแพทย์บุญชม  อารีวงศ์          อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ท่านเป็นผู้ที่ชาวเชียงใหม่รักและนับถือจึงเรียกท่านว่า     พ่อเลี้ยง ดังนั้นภริยาคืออาจารย์ศรีทองก็เป็นที่รู้จักกันสำหรับชาวเชียงใหม่ว่า   แม่เลี้ยงศรีทองด้วย
                ท่านเป็นผู้ที่เติบโตในครอบครัวที่รักพระเจ้า มารดาของท่านเป็นผู้ที่    เคร่งครัดในความเชื่อ จึงอบรมให้ลูกทุกคนอยู่ในระเบียบวินัย     ดำเนินชีวิต คริสเตียนที่ดี ในบ้านของท่านนั้นทุกคนจะต้องมานมัสการพร้อมหน้ากันทุกเย็นก่อนนอน วันอาทิตย์จะไม่ทำการงานสิ่งใด ไม่มีการออกไปซื้ออาหาร หรือค้าหรือขาย แต่จะปฏิบัติตามคติของคริสเตียนในภาคเหนือว่า วันอาติ๊ดบ่คิดก๋ารหยัง ก๋ำปั๊บคนอันตวยกั๋นเป๋นเส้น แปลว่าวันอาทิตย์จะไม่คิดทำการใด ถือเพลงถือพระคัมภีร์เดินตามกันเป็นแถว เพื่อไปนมัสการที่โบสถ์บ้านคริสเตียนในภาคเหนือ ตอนบ่ายพ่อจะดูแลว่าเด็กทุกคนจะต้องนอน เมื่อตื่นขึ้นแล้วก็ต้องเตรียมตัวไปนมัสการตามบ้านตอนบ่ายอีกครั้ง ชีวิตเช่นนี้เองที่แม่เลี้ยงศรีทองได้รับมาจากการฝึกอบรมในวัยเด็กของท่าน และท่านก็ดำเนินชีวิตเช่นนั้นตลอดมา จึงเป็นชีวิตที่เป็นตัวอย่าง   และให้ความเคารพนับถือสำหรับทุกๆคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับท่านว่าแม่เลี้ยงศรีทองนั้นเป็นผู้ที่มั่นคงอยู่ในพระเจ้า ท่านเป็นนักดนตรี ได้รับการฝึกอบรมในการใช้เสียงสำหรับร้องเพลงจาก Hanover   College  มลรัฐ   Indiana     ซึ่งเป็นตะลันต์หรือความสามารถพิเศษที่ท่านได้ใช้ เป็นการถวายแด่องค์พระผู้เป็นเจ้า   แม้ในวันเวลาที่ท่านอยู่ในวัยชราจนทุกวันนี้
                                                                                                เอกสารหมายเลข 25


ผู้ถวายเพื่อพันธกิจการพิมพ์หนังสือเล่มนี้
อี่นาย  ตู่  ติ๊ก หลานและเหลน
และบริษัท เบล็สซิงการพิมพ์  จำกัด
ภาพปก

ปกหน้า

คณะนักร้องประสานเสียงสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนประกอบด้วย  นิสิต นักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร


ปกหลัง

                วงดนตรีและคณะนักร้องสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ประกอบด้วย
บุคลากรที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ      ในพันธกิจและกิจกรรมของสำนักกลางนักเรียน
คริสเตียน

พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม  2001  จำนวน 5,000 เล่ม
พิมพ์ที่ บริษัท เบล็สซิงการพิมพ์ จำกัด  โทร. 233-8007 , 234-9611
ขอบคุณ

                ผมเองเป็นญาติของครอบครัวอารีวงศ์ และก็ได้เคยไปพัก ไปกิน ไปอยู่ที่บ้านของน้าศรีทองอยู่บ่อยๆ ได้รับการต้อนรับด้วยน้ำใจไมตรีเหมือนกับที่หลายๆ ท่านได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้ ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าได้อวยพระพร   น้าศรีทองในวาระที่อายุครบ 80 ปี ให้กระฉับกระเฉง  ชื่นบานอยู่เหมือนคนอายุ 18 ปี และสามารถรับใช้พระเจ้าไปอีกนาน
                ลูกๆ ของน้าศรีทองเป็นผู้ให้การสนับสนุนการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีประโยชน์มากมายที่จะช่วยให้เราขอบคุณพระเจ้า พระผู้สร้างของเราที่ทรงสร้างเราให้สามารถร้องเพลงได้   อี่นาย คืออาจารย์สุชาดา ดาวน์ส  เป็นพี่เก่าชาว สนค. สามีของท่านคือคุณปีเตอร์  ดาวน์ส ลูกชายของอาจารย์เรย์ ซี ดาวน์ส  คุณปีเตอร์ เป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ สรอ. อาจารย์สุชาดา ขณะนี้ทำงานอยู่ที่ศูนย์อบรมข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ที่เตรียมตัวออกไปทำงานทั่วโลก    ท่านเป็นหัวหน้าแผนกภาษาไทยและอินโดนีเซีย    ตู่ คือ     อาจารย์ดาเรศ
อารีวงศ์ เป็นพี่เก่าชาว สนค. ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินและบัญชีโรงเรียนนานาชาติ เชียงใหม่ของสภาคริสตจักรในประเทศไทย     ติ๊ก คือ คุณศุภมิตร  อารีวงศ์    ปัจจุบันเป็นผู้จัดการภาคของบริษัท Valspar สำนักงานอยู่ที่หลุยส์วิลล์  มลรัฐเคนตั๊กกี้   เมืองนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่คณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาคริสตจักร        ดังนั้นเมื่อบุคลากรของสภาคริสตจักรไปที่เมืองนี้  คุณศุภมิตรจะเป็นผู้ให้การต้อนรับอย่างดีเสมอ  คุณศุภมิตรเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของคริสตจักรที่ครอบครัวเป็นสมาชิกอยู่  เป็นนักร้องประจำโบสถ์ และที่เราประทับใจมากก็คือ ผู้จัดการบริษัทท่านนี้รับอาสาเป็นผู้ซ่อมแซมทุกอย่างในโบสถ์ และก็ยังเป็นผู้ที่ดายหญ้าสนามของโบสถ์ทั้งหมดอีกด้วย
                เราขอขอบคุณนักดนตรีของคริสตจักรต่างๆ ที่ได้เสียสละเวลาตรวจแก้ต้นฉบับของหนังสือเล่มเล็กนี้ จึงทำให้เราแน่ใจได้ว่า เอกสารวิชาการเล่มนี้เหมาะสมที่จะใช้สำหรับการศึกษาค้นคว้าทางดนตรีได้อย่างดีด้วย ท่านเหล่านั้นคืออาจารย์จันทร์แรม พันธุพงศ์ สตรอสบอก แห่งคริสตจักรวัฒนา กรุงเทพฯ  อาจารย์สุวลักษณ์  เลียนษี แห่งคริสตจักรที่สองสามย่าน กรุงเทพฯ และ  อาจารย์อดิศร  ม่วงงาม แห่งคริสตจักรที่หนึ่ง เชียงใหม่
                เราขอขอบคุณ ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยเราในการผลิตเอกสารของสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนชุดนี้มาแล้วหลายเล่ม คือคุณอรรถสิทธิ์ ลิ้มพิทักษ์ผล ที่ได้เป็นผู้ทำต้นฉบับให้สมบูรณ์ที่สุดก่อนส่งเข้าโรงพิมพ์ และเราก็ขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่โรงพิมพ์เบล็สซิง ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้กับเราในราคาต้นทุน
                เราเชื่อว่าทุกท่านที่ได้มีส่วนในการพิมพ์เอกสารของสำนักกลางนักเรียน คริสเตียนจะได้รับพระพรจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย เพราะหนังสือเล่มเล็กนี้ แจกจ่ายไปไกลกว่าที่เราจะรู้ได้ว่าไปถึงไหน แต่เรามั่นใจว่า จะเป็นเอกสารที่เข้าไปถึงชุมชนแวดวงการศึกษาทั้งในระดับมัธยมและอุดมศึกษา เราหวังว่า จะมีอีกหลายๆท่าน  สนับสนุนเราให้สามารถทำพันธกิจนี้ต่อไปได้อีกนาน

     ถวิล   สิทธิพงศ์        
    ผู้อำนวยการ สนค.

อาจารย์ศรีทองกับเพลงไทยนมัสการ

                        ข้อความต่อไปนี้    ตัดตอนมาจากประวัติศาสตร์
                        เพลงไทยนมัสการ ซึ่งบันทึกไว้เป็นภาษาอังกฤษ
                                โดยอาจารย์ Carolyn Kingshill
                (เพลงไทยนมัสการเล่มสีแดงที่ใช้กันอยู่ทั่วประเทศไทยทุกวันนี้ เป็นผลงานของหลายๆ ท่านที่ได้ทุ่มเทให้ในการแก้ไข โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 และสำเร็จจนพิมพ์ออกจำหน่ายได้ในปี ค.ศ. 1985 ซึ่งต้องใช้เวลาทำงานอย่างหนักถึง 8 ปีโดยหลายๆ ท่าน )
                ... อาจารย์ภิญโญ  ณ นคร และครูจันทร์ฟอง  ฉิมวงศ์  เป็นหลักสำคัญในการแปลเนื้อเพลง คณะกรรมการจะนำงานที่ได้ทำกันที่บ้านกลับมาพิจารณาร่วมกันที่เชียงใหม่ โดยจะใช้เวลาครั้งละ 1 สัปดาห์ ใน 1 เดือน เราพบกันที่ห้องสมุดวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมเชียงใหม่ งานที่ทุ่มเทลงไปเพื่อการผลิตเพลง เป็นผลงานของการทำงานอย่างอดทน และเสียสละของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน จนเพลงไทยนมัสการฉบับ 1985 สำเร็จ ...         อาจารย์ประไพศรี กลิ่นหอม เป็นผู้ที่พิมพ์ตัวโน้ตลงแผ่นต้นฉบับ โดยใช้เครื่องพิมพ์สำหรับพิมพ์ตัวโน้ตโดยเฉพาะ ซึ่งสั่งมาใช้ในงานนี้เท่านั้นจากประเทศเยอรมัน เมื่อพิมพ์โน้ตเสร็จแล้ว ก็จะตัดข้อความซึ่งเป็นเนื้อร้อง ติดกาวข้อความแผ่นเล็กๆ นั้นลงใต้ตัวโน้ตทีละตัว อาจารย์ประไพศรีทำงานนี้เป็นเวลา 5 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์    ...อาจารย์ประไพศรีตั้งโต๊ะทำงานอยู่ที่บ้านอาจารย์ศรีทอง  เมื่อเพลงแต่ละบทเสร็จแล้ว อาจารย์ศรีทองจะเป็นผู้ตรวจทั้งตัวโน้ตและตัวพิมพ์ เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง     และ
แม่นยำเป็นคนแรก             บุคคลที่จะตรวจหลังจากนั้นอีกครั้งหนึ่งก็คือ อาจารย์
Carolyn Kingshill  ซึ่งเป็นคนสุดท้าย ...
อาจารย์ศรีทองต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จฯ

                วงดนตรี ชราโดว์ เป็นวงดนตรีสากล ประกอบด้วยนักดนตรีผู้สูงอายุราว 20 คน วงดนตรีนี้ให้ชื่อว่า ชราโดว์ อันเป็นการตั้งชื่อ  เลียนเสียงของคำว่า  วงชาโดว์ ซึ่งเป็นวงสตริงคอมโบของเด็กวัยรุ่นที่เราได้ยินทั่วไป เนื่องจากสมาชิกของวงดนตรีนี้ล้วนเป็นผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว แต่มีจิตใจที่รักดนตรีจึงได้รวมตัวกัน ให้ชื่อว่า วงชราโดว์  เพื่อให้สมกับวัยของนักดนตรี  วงชราโดว์รับที่จะไปบรรเลงทุกแห่งที่ได้รับเชิญมา  ซึ่งเป็นความสุขของผู้บรรเลง
                วงชราโดว์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ให้ไปบรรเลงต่อหน้าพระที่นั่งที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ปีละครั้ง เมื่อพระองค์เสด็จมาเชียงใหม่
                สมเด็จฯทรงพอพระทัยเสียงร้องของอาจารย์ศรีทองมากเป็นพิเศษ   และทรงเคยถามอายุ ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อมีโอกาสไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่งอีก สมเด็จฯก็จะถามบรรดาข้าราชบริภารและผู้ที่นั่งฟัง ให้ลองทายว่าอาจารย์ศรีทองอายุเท่าไร ปรากฏว่าไม่มีใครทายถูก จึงเป็นที่ครื้นเครงและประหลาดใจของ   ทุกคน วันเวลาและโอกาสเช่นนี้ ได้นำความภาคภูมิใจมาสู่อาจารย์ศรีทองเป็นอย่างมาก




แม่เลี้ยงศรีทองที่รัก

คุณแม่ศรีฯผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

                แม่ศรีฯ ท่านเป็นผู้ที่มีจิตใจ น้ำใจ จริงใจต่อโบสถ์คือคริสตจักรที่ 1 ที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่ ท่านพร้อมอยู่เสมอเมื่อคริสตจักรต้องการความช่วยเหลือจากท่านและจะให้ความช่วยเหลืองานคริสตจักรด้วยความปีติยินดีชื่นชม ท่านให้เวลาแก่โบสถ์มากมาย จนพ่อเลี้ยงชม  อารีวงศ์  สามีของท่านเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เคยพูดเล่นกับแม่ศรีฯว่า ย้ายไปอยู่โบสถ์เสียดีกว่าแม่ศรีฯอายุ 80 ปีแล้ว  แต่ก็ยังเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังกับงานของพระเจ้า ชีวิตของแม่ศรีฯ จึงเป็นชีวิตที่ท้าชวนพวกเราเสมอว่า แล้วเราล่ะ ซึ่งเป็นคนหนุ่มคนสาวจะไม่เข้มแข็งในงานของ   พระเจ้าหรือ

ศาสนาจารย์ภักดี  วัฒนจันทรกุล 
ศิษยาภิบาลคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่

แม่ศรีฯ ผู้ไม่เคยปฏิเสธงานของพระเจ้า

                เมื่อเราต้องการความช่วยเหลือในงานของพระเจ้าที่โบสถ์ เรารู้สึกสบายใจที่จะโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือจากแม่ศรีฯที่บ้าน เพราะเสียงที่ตอบมาทางโทรศัพท์ของแม่ศรีฯนั้นเป็นเสียงที่มีแต่ความเต็มใจ เป็นคำพูดสั้นๆ ว่า ได้ ท่านไม่เคยปฏิเสธถ้าเป็นงานของพระเจ้า เมื่อเราหาใครไม่ได้แล้ว เมื่อเราหาใครเล่นเปียโน หรือสอนเพลงให้แก่คริสตจักรหรืองานแต่งงาน หรืองานศพก็ตาม เราก็จะติดต่อขอความช่วยเหลือจากท่าน ท่านไม่ขัดข้องที่จะมาช่วยพวกเรา ท่าน
พร้อมเสมอที่จะเป็นตัวสำรอง ในกลุ่มผู้สูงอายุของคริสตจักร ท่านก็เป็นกำลังที่เข้มแข็งของกลุ่มนี้ให้สามารถที่จะทำพันธกิจในการเยี่ยมเยียนได้      ทุกวันพุธ  คณะเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่จัดเป็นทีมออกไปเยี่ยมทุกทิศทุกทางนั้นนำความชื่นชมและเชิดชูใจไปสู่คนมากมาย โดยเฉพาะคนเจ็บป่วยและคนชรา ทีมเยี่ยมเยียนของผู้สูงอายุนี้ ได้รับฉายาว่าคณะ The Blue  Angels “ จากอาจารย์หมวก   ไชยลังการณ์  เพราะทุกคนในทีมสวมเครื่องแบบสีบลู แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้สูงอายุเหล่านี้เป็น Angel ได้สมชื่อก็เพราะ คุณแม่ศรีฯเป็นผู้ฝึกสอนเพลงให้ เพื่อจะนำไปร้องในที่ต่างๆ 
ศาสนาจารย์วิชา  นทีคุณธรรม
ผู้ช่วยศิษยาภิบาลคริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่
               
ทำไมพี่ศรีทองจึงพริ้งอยู่เสมอ

                ไม่เคยนึกเลยว่าพี่ศรีทองอายุ 80 ปีแล้ว พี่ศรีทองมีใบหน้าและผิวพรรณที่ยังสดใสและสดชื่นอยู่เสมอ กระฉับกระเฉงว่องไวไม่สมกับที่เป็นวัยชราเลย พวกเรารู้เคล็ดลับว่าพี่ศรีทองดูไม่แก่ เคล็ดลับนั้นก็คือ พี่ศรีทองไม่เคยโกรธใคร แค่นี้ก็ต้องถือว่ายอดเยี่ยมที่พวกเราหรือใครก็แล้วแต่ ถ้าไม่อยากแก่แล้วก็เอาวิธีของพี่ศรีทองไปใช้ รับรองว่าได้ผลดีแน่ เรื่องที่ครอบครัวอรรฆภิญญ์ จะไม่ลืมพี่    ศรีทองเลยก็คือ เมื่อครอบครัวของอาจารย์พ่วงและคุณครูพันธลี อรรฆภิญญ์  ย้ายไปเชียงใหม่นั้น คุณพ่อคืออาจารย์พ่วง ท่านเดินทางไปประกาศอยู่ตลอดเวลา ปล่อยให้คุณแม่ดูแลพวกเราซึ่งเป็นเด็กๆ อยู่ตามลำพังที่เชียงใหม่ เราไม่มีที่พักที่แน่นอน เมื่อเราเดินทางไปถึงเชียงใหม่นั้น เขาจัดให้ครอบครัวเราพักที่โรงเรียนดาราฯ แต่เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม ทางโรงเรียนต้องการจะใช้บ้าน เราจึงต้องย้ายออก พี่ศรีทองเชื้อเชิญให้ครอบครัวของเราซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ย้ายไปอยู่กับท่านที่บ้านริมปิง ภาพที่จำได้เมื่ออยู่ด้วยกันที่บ้านริมปิงทุกเช้าวันอาทิตย์ ก่อนเข้าโบสถ์จะเห็นพี่ศรีทองและพ่อเลี้ยงชม ซ้อมเพลงเพื่อที่จะไปร้องในโบสถ์โดยพี่ศรีทองจะเป็นผู้เล่นเปียโนและร้องเพลง ส่วนพ่อเลี้ยงชมจะร้องเสียงเบสประสานเสียงที่ประทับใจ อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือ ที่บ้านของท่านเป็นบ้าน   ที่ร่มเย็นเมื่อเข้าไปพักอาศัย ทุกครั้งที่คนกรุงเทพฯมาเชียงใหม่จะไปพักที่       โรงแรมอารีวงศ์ โดยจะให้การต้อนรับนับตั้งแต่ไปรับที่สถานีรถไฟจนถึงบ้านซึ่งเตรียมที่พักไว้สบาย สะอาด ปลอดภัย ที่เห็นแปลกที่สุดก็คือประตูขึ้น-ลง ด้านห้องอาหาร จะมีคนอยู่หรือไม่ ไม่เคยลงกลอนเลย เมื่อใครมาจะเปิดเข้าได้ทันทีแล้วร่วมโต๊ะสนทนาที่โต๊ะอาหารของท่าน โดยมีพี่ศรีทองและพ่อชมนั่งฟังปัญหาความทุกข์ความสุขต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีอาหารพร้อม        บางครั้งคุยกันจนถึงตี 1 ตี 2 ไม่รู้จักเบื่อ    สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะพี่ศรีทองกับพ่อเลี้ยงชมมีผลแห่งพระวิญญาณ ดังที่กาลาเทีย 5: 22-23 กล่าวไว้ว่า ฝ่ายผลของพระวิญญาณนั้นคือความรัก ความปลาบปลื้มใจ สันติสุข ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน
                                                                                                พรรณีและเสถียร   ดังสมัคร
หมู่บ้านโอฬาร 2 กทม.


ตามหาจนพบ

                ดิฉันอยู่ที่แม่จัน จังหวัดเชียงราย ต้องเดินทางมาเชียงใหม่บ่อยๆ ส่วนมากก็มาทำงานของพระเจ้าหรือมาในงานสำคัญๆ ที่คริสตจักรที่ 1 เชียงใหม่     น้าศรีฯสั่งไว้ว่าให้ไปพักที่บ้านของท่าน มีครั้งหนึ่งดิฉันเกรงใจที่จะต้องรบกวน    น้าศรีฯบ่อยๆ  ดิฉันจึงไปพักที่อื่นโดยไม่ได้บอกให้ท่านทราบ  แต่น้าศรีฯก็ตามหาดิฉันจนพบ แล้วย้ายดิฉันไปพักที่บ้านของท่านทันที       พร้อมกับออกคำสั่งว่า อย่าทำอย่างนี้อีก
กัลยา   เมืองตั้ง
บ้านจิตเมตต์  เชียงราย

น้าศรีฯ ผู้มีเสียงสวรรค์

                ข้าพเจ้ารู้จักน้าศรีฯ ตั้งแต่เมื่อเป็นเด็ก เพราะครอบครัวอาจารย์ทองคำ พันธุพงศ์และครอบครัวคุณหมอบุญชม อารีวงศ์  รักใคร่ชอบพอกันมาก สำหรับ  แม่เลี้ยงศรีทองผู้ซึ่งข้าพเจ้าเรียกน้าศรีฯมาตลอดนั้นมีอะไรๆ ที่ประทับใจข้าพเจ้ามาตั้งแต่เมื่อข้าพเจ้าเป็นเด็กวัยรุ่น เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย จำได้ดีว่า เวลานั้นน้าศรีฯเพิ่งกลับมาจากการไปเรียนดนตรีที่สหรัฐอเมริกา หลายๆ คนดีใจมากในการกลับมาของน้าศรีฯ สำหรับข้าพเจ้าตื่นเต้นมากเพราะเท่าที่ทราบ ท่านเป็นคนแรกจากเชียงใหม่ที่ไปเรียนดนตรีถึงอเมริกา และนั่นก็หมายความว่า ข้าพเจ้าผู้สนใจทางดนตรีอยู่แล้วจะได้รับการฝึกสอนทางด้านการร้องเพลงจากน้าศรีฯผู้ที่มีความสามารถเป็นพิเศษด้วย เพราะน้าศรีฯ มีเสียงที่ไพเราะประทับใจทุกคนที่ได้ฟัง  น้าศรีฯ สวยและสง่างามมากในสายตาของข้าพเจ้าผู้เป็นเด็ก ภาพที่ประทับใจก็คือ ได้เห็นน้าศรีฯ ยืนร้องเพลงอย่างถูกต้องตามมาตรฐานของนักร้องคือ ยืนหลังตรง คอตั้งตรง อกผาย ไหล่ผึ่ง อ้าปากกว้างด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ถือหนังสือหรือโน้ตเพลงอย่างสง่างาม น้าศรีฯร้องเพลงเสียง  Descant ไพเราะมาก ข้าพเจ้าได้ยินเสียง Descant ของเพลง Silent Night, Holy Night    เป็นครั้งแรกโดยน้าศรีฯเป็นผู้ร้อง     ช่างไพเราะกังวานดังเสียง        ฑูตสวรรค์จริงๆ ถึงแม้เวลาจะผ่านมามากมายหลายปีแล้วก็ตาม น้าศรีฯ ก็ยังเป็นแบบอย่างของนักร้องที่ดีที่รับใช้พระเจ้า ด้วยเสียงอันไพเราะของท่านยังความประทับใจให้แก่ข้าพเจ้าตราบจนทุกวันนี้

จันทร์แรม ( พันธุพงศ์ )   สตรอสบอก
โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย

น้าศรีทอง  อารีวงศ์  ผู้ไม่มีเวลาเกษียณ

                น้าศรีฯ เป็นบุคคลที่มีน้ำใจและความอดทน เป็นบุคคลที่ได้ใช้ตะลันต์ความสามารถที่พระเจ้าประทานให้อย่างเป็นประโยชน์ที่สุดและใช้อย่างไม่มีการเกษียณ
                เนื่องจากครอบครัวน้าศรีฯ มีญาติมิตรและเพื่อนของลูกมากมายที่จะเยี่ยมและมาพักที่บ้านด้วย  ในฐานะแม่บ้านก็ต้องต้อนรับขับสู้ บางทีลูกหลานมาอยู่ด้วย เมื่อมาเรียนหนังสือที่เชียงใหม่ข้าพเจ้าเคยถามน้าศรีฯว่า ทำได้อย่างไร กลุ่มนั้นออกบ้านไป กลุ่มใหม่เข้ามา น้าศรีฯไม่ตอบด้วยคำพูด แต่ยิ้มที่มุมปากและสายตาในเชิงตอบว่า เป็นสุขใจที่มีคนมาหา สุขใจที่มีมิตร ไม่มีศัตรู และยังอาจจะกลัวว่าคนที่รู้จักกันเวลามาจากต่างถิ่นจะไม่แวะมาหาสู่กัน เมื่อพ่ออุ๊ยอิน  เมธา ท่านเป็นพ่ออุ๊ยของข้าพเจ้า  ท่านมาเชียงใหม่ก็ไปพักที่บ้านของน้าศรีฯ แต่พ่ออุ๊ยไม่ได้มาคนเดียว ยังพาเพื่อนของท่านไปอีกหลายคน ซึ่งเป็นพ่อค้าวัวต่างไปพักด้วย  น้าศรีฯ ก็จัดบ้านช่องต้อนรับได้หมดทุกคน
                การเป็นคริสเตียนไม่มีการเกษียณ เราเคยได้ยินมาอย่างนี้ น้าศรีฯ ได้ใช้ ตะลันต์ความสามารถทางดนตรี ให้เป็นประโยชน์ต่อคริสตจักรและชุมชนอยู่เสมอ ข้าพเจ้าเคยไปจากกรุงเทพฯ เพื่อนมัสการพระเจ้าตอนบ่ายที่บ้านผู้นำ     คริสตจักรแถวหนองประทีป ก่อนเวลานมัสการก็เห็นน้าศรีฯ เริ่มสอนเพลงแก่ผู้ที่มาก่อนประมาณ 30-40 คนแล้ว (ต้นมีนาคม 2001) สิ้นเดือนมิถุนายน 2001  ข้าพเจ้าไปเชียงใหม่ประชุม Habitat For Humanity ด้วยน้ำใจของคุณนิยม     เถาะสุวรรณ ขับรถส่งข้าพเจ้าไปเยี่ยมน้าศรีฯ คนที่บ้านบอกว่าไม่อยู่ ออกไปที่โบสถ์ตี๋นขัว  เราก็ตามไปที่นั่น  บ่ายวันนั้นเป็นงานศพบ่ายสุดท้ายก่อนเคลื่อนศพของคุณมาลี  เจ้าของหอพักหลังสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ ไม่เห็นน้าศรีฯ ที่     บนวิหาร  มีผู้บอกว่าพบได้ที่ศาลาข้างล่าง (ศาลาจันทร์เป็ง) เราเดินลงไปมองลอดบานเกล็ด เห็นน้าศรีฯเล่นเปียโน สอนนักร้อง เพื่อจะถวายเพลงสรรเสริญพิเศษนมัสการบ่ายนี้
                ข้าพเจ้าขอสรุปเรื่องน้าศรีทองว่า เป็นผู้มีน้ำใจ มีความอดทน ใช้ตะลันต์ความสามารถ เป็นคริสเตียนที่ไม่มีการเกษียณ แม้วัยเป็นผู้สูงอายุแล้ว นี่เป็นชีวิตในภาคปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎีที่ใครมาบรรยายให้ฟัง
ถวิล   สิทธิพงศ์
หลาน
จงร้องเพลงถวายพระเจ้า



               พระองค์ทรงบรรจุเพลงใหม่ในปากข้าพเจ้า
เป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าของเรา    สดุดี 40 : 3



                ถ้าจะว่ากันว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐแล้วละก้อ คริสเตียนก็คือสัตว์ประเสริฐที่ชอบร้องเพลง
                การที่มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่ไม่เหมือนกับสัตว์ใดใดในโลก ก็เพราะมนุษย์มีสิ่งหนึ่งที่สัตว์อื่นไม่มี  คือความสามารถในการร้องเพลง
                หรือถ้าจะพิจารณาจากแง่ของพระคัมภีร์แล้ว การที่มนุษย์ร้องเพลง     ได้นั้น ก็เพราะพระผู้สร้างของมนุษย์ได้ใส่ความสามารถในการร้องเพลงไว้คู่กับความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย
                สัตว์ในโลกนี้สามารถที่จะทำเสียงต่างๆได้        ตามพวกตามชนิดของมัน นกร้องด้วยเสียงต่างๆมากมายอย่างน่าพิศวง            นกบางชนิดสามารถร้องด้วยเสียงที่เกือบจะเหมือนเครื่องดนตรี ไก่สามารถที่จะขันได้อย่างไพเราะ บางชนิดก็เป็นไก่แจ้ บางชนิดก็เป็นไก่อู นอกจากนั้น ก็ยังมีเสียงวัว ควาย หมู ช้าง ม้า และสุนัข เป็นต้น เสียงของสัตว์ในภาษาอังกฤษเรียกว่า SOUND แต่สำหรับมนุษย์นั้นนอกจากที่เขาจะสามารถทำเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดที่เรียกว่า SOUND ได้แล้ว เขาก็ยังสามารถที่จะทำเสียงที่เรียกว่า VOICE ได้อีกด้วย VOICE นั้นได้แก่ เสียงของการร้องเพลง เป็นเสียงที่เปล่งออกมาโดยมีความมุ่งหมายบางประการอันเป็นความรู้สึกทางอารมณ์หรือจิตใจ    สัตว์นั้นไม่มี VOICE มีแต่ SOUND สัตว์ส่วนใหญ่ทำเสียงได้ไม่กี่เสียง แต่ไม่สามารถที่จะทำเสียง VOICE ได้ ปลาโลมาเป็นสัตว์ชนิดเดียวในโลกที่สามารถทำเสียงต่างๆ ได้ถึง 20 เสียง เราทราบกันดีว่า ปลาโลมามีความสามารถพิเศษหลายอย่างที่อาจฝึกฝนเพื่อนำมาแสดงให้ผู้คนชมได้ เราจะประหลาดใจที่เห็นความสามารถของมันเมื่อเราไปชมการแสดงของปลาโลมาที่สวนสนุก  Sea World ในเมือง  San Diego  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือที่ Ocean World ที่ฮ่องกง เราจะประหลาดใจ  ชอบใจ และสนุกสนานที่ได้เห็นปลาโลมา มีความสามารถที่น่าประทับใจ แต่แม้กระนั้น เราก็ยังไม่เคยเห็นในโลกที่สามารถฝึกให้ปลาโลมาร้องเพลงได้ ถึงแม้มันจะทำเสียงได้ถึง 20 เสียงก็ตาม สัตว์ทำเสียงได้แต่ไม่เคยมีปรากฏว่ามันสามารถบันทึกโน้ตเพลงปลาโลมาจะเก่งแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่ามันออกมายืนตั้งแถวเหมือนกับคณะนักร้องที่ร้องประสานเสียงกันในโบสถ์ มนุษย์เท่านั้นที่มีเสียงซึ่งร้องเพลงได้ สามารถจะบันทึกเสียงของเพลงไว้เป็นตัวโน้ต เพื่อใช้สำหรับร้องและใช้ในการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี นี่คือคุณสมบัติพิเศษที่มีอยู่ในมนุษย์เท่านั้น สมกับที่พระคัมภีร์ว่ามนุษย์นั้นพระเจ้าได้ทรงสร้างให้เขาต่ำกว่าฑูตสวรรค์หน่อยเดียว ( สดุดี 8:5 ) ถ้าเช่นนั้น ฑูตสวรรค์ก็จะต้องร้องเพลงและร้องได้ดีกว่ามนุษย์
                แม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานใดใด ที่จะบอกให้เราทราบได้ว่าพระเจ้าทรงร้องเพลงด้วยหรือไม่ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ทรงพอพระทัยในเสียงเพลง โดยเหตุนี้เอง เมื่อพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งการทรงสร้างทั้งหลาย พระองค์จึงให้มนุษย์มีความสามารถในเรื่องเพลงที่เขาจะร้องได้และในเรื่องดนตรีที่เขาจะบรรเลงได้  พระคัมภีร์บอกเราว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์โดยได้สวมทับมนุษย์ไว้ด้วยพระฉายาของพระเจ้า นั่นก็คือเงาของพระเจ้านั้นอยู่ในตัวเราด้วย ความเป็นมนุษย์ของเรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่สะท้อนถึงพระผู้สร้างของเรา ถ้ามนุษย์สามารถที่จะร้องเพลงและชอบเพลงแล้ว มันก็น่าจะทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เราได้รับมานั้นก็คือ สิ่งที่พระเจ้าทรงมีอยู่ คือการที่พระองค์ทรงพอพระทัยในเรื่องเพลงนั่นเอง
อีกทั้งปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์หลายแห่งหลายตอนว่ามีการร้องเพลงและบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีในสวรรค์ด้วยแน่นอน ดังเช่น ในพระธรรมวิวรณ์ 5:9

                    และเขาทั้งหลายก็ร้องเพลงใหม่ว่าดังนี้  พระองค์ทรงเป็นผู้  ที่
                    สมควรจะทรงรับม้วนหนังสือ  และแกะตราม้วนหนังสือนั้น
                    ออก เพราะว่าพระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์แล้ว      และด้วย
                    พระโลหิตของพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงไถ่คนทุกเผ่า     ทุก
                    ภาษา   ทุกชาติและทุกประเทศเพื่อถวายแด่พระเจ้า

และในวิวรณ์ 4:8

                    สัตว์ทั้งสี่นั้นมีปีกหกปีกและมีตาทั้งรอบนอกและข้างใน และ
                   สัตว์เหล่านั้นร้องเพลงตลอดวันตลอดคืนไม่ได้  หยุดเลย     ว่า
                 บริสุทธิ์   บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระเจ้าผู้ทรง      ฤทธานุภาพสูงสุด ผู้
                ได้ทรง    ดำรงอยู่ในกาลก่อน ผู้ทรงดำรงอยู่ในปัจจุบัน       และผู้
                ซึ่งจะเสด็จมา
                พระเจ้าทรงเนรมิตให้มนุษย์มีความสามารถในการดนตรี ก็ด้วยเหตุผลสำคัญว่าการดนตรีจะเป็นการร้องเพลงหรือการใช้ดนตรีบรรเลงก็ตาม เป็นภาษาที่สูงสุดที่มนุษย์อาจใช้ในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ให้ซาบซึ้งได้อย่างที่สุดด้วย  มนุษย์สื่อสารกันด้วยคำพูดที่จะให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกซาบซึ้งได้ แต่ถ้าจะให้ซาบซึ้งยิ่งขึ้นก็เขียนเป็นตัวอักษรที่ระบายความรู้สึกของตนออกมาให้ได้ทั้งหมดที่เรียกว่า ร้อยแก้ว แต่ถ้าจะให้ซาบซึ้งยิ่งขึ้น ก็ต้องเขียนเป็นบทประพันธ์ที่มีเสียงสัมผัส  มีจังหวะจะโคนที่พยายามจะให้ผู้อ่านซึ้งประทับใจและไม่ลืมที่เรียกว่า ร้อยกรอง  ถ้าจะให้ถึงจุดสุดยอดจริงๆแล้ว ก็ต้องเอาบทประพันธ์นั้นมาร้องเป็นเพลง ซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกทางอารมณ์ ที่อาจจะทำให้น้ำตาไหลได้
                นอกจากนั้น ดนตรีหรือเพลงยังสามารถที่ขยับเขยื้อนอารมณ์ หรือความรู้สึกต่างๆของมนุษย์ได้อย่างดีที่สุด ดนตรีหรือเพลงบางอย่างนั้นเหมาะสมสำหรับขยับเขยื้อนเท้า หรือแข้งขา หรือมือไม้ รวมทั้งส่วนต่างๆของร่างกายที่จะทำให้ผู้ฟังหยุดอยู่กับที่เฉยๆไม่ได้       แต่จะต้องกระตุก เคลื่อนไหวไปตามเสียงเพลง มีดนตรีหรือเพลงที่สามารถปลุกเร้าจิตใจได้ ที่จะทำให้มนุษย์คลายเครียดได้ เกิดความรู้สึกรักหรือเกลียดได้ ทำให้มนุษย์มีความฮึกเหิมเกิดความกล้าหาญและดนตรีก็ยังเป็นอาหารของสมองได้ด้วย ดังเช่น เพลงประเภทคลาสสิกหรือ แจ๊สเป็นต้น และแน่นอนดนตรีหรือเพลงนั้นเป็นอาหารเลี้ยงจิตวิญญาณของ คริสเตียนได้อย่างดี โดยสรุป เราจะเห็นได้ว่ามีดนตรีสำหรับเท้า มีดนตรีสำหรับหัวใจ มีดนตรีสำหรับสมองและก็มีดนตรีสำหรับจิตวิญญาณ ดนตรีไม่เป็นพิษเป็นภัยไม่เป็นความบาปใดใด แต่การใช้ดนตรีในทางที่ผิดนั้นต่างหากที่เป็นบาป ไม่เป็นสิ่งเสียหายที่จะสนใจดนตรีประเภทหรือชนิดต่างๆ ที่ทำให้ชีวิตของเราสดชื่นเบิกบาน และเราต้องสำนึกว่าดนตรีเป็นพระพรของพระเจ้าที่ประทานให้แก่มนุษย์ เราจะต้องไม่ลืมและจดจำไว้เสมอว่าเรายังสามารถที่จะสัมผัสกับ   พระเจ้าได้ด้วยดนตรี ซึ่งก็คือดนตรีสำหรับจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง
                ในการนมัสการพระเจ้า     เราอาจจะพบเห็นว่ามีวิธีการมากมาย       ตามประเพณี   ตามที่มาของประวัติศาสตร์    ตามความเชื่อที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน แต่มาตรฐานของการนมัสการนั้น พระเยซูได้ให้ไว้ในกิตติคุณยอห์น 4:23-24  ว่า

                    แต่วาระนั้นใกล้เข้ามาแล้ว         และบัดนี้ก็ถึงแล้ว คือเมื่อผู้ที่
                    นมัสการอย่างถูกต้อง     จะนมัสการพระบิดาด้วยจิตวิญญาณ
                    และความจริง         เพราะว่าพระบิดาทรงแสวงหาคนเช่นนั้น
                    นมัสการพระองค์         พระเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณ และผู้ที่
                    นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง

                ในการนมัสการบางแห่งนั้น      สถานที่นมัสการจะประดับด้วยเทียนซึ่งอาจจะมีสีสันต่างๆกัน           บางแห่งก็มีการเผากำยานหรือเครื่องหอมต่างๆ ให้คละคลุ้งอบอวล บางแห่งนั่งเมื่อร้องเพลง แต่บางแห่งก็จะยืน บางแห่งคุกเข่าเมื่ออธิษฐาน แต่บางแห่งก็จะนั่งอยู่กับม้านั่ง สิ่งทั้งปวงเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องประดับ
หรือเป็นอาภรณ์ทั้งสิ้นที่จะใช้สำหรับเสริมบรรยากาศการนมัสการ    ให้สถานที่นั้นๆมีความรู้สึกเคร่งขรึม มีความสง่างามด้วยความรู้สึกว่า   พระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่ทรงประทับที่นั่น แต่ผู้หนึ่งผู้ใดจะทำอะไรก็ตาม นิกายหรือลัทธิใดใดจะมีวิธีการแปลกๆและแตกต่างที่อาจจะพิสดารเพียงไรก็ตาม      แต่จะต้องขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานเดียวกับที่พระเยซูได้มอบให้คือ       จะต้องเป็นการนมัสการที่กระทำด้วยจิตวิญญาณและความจริง
                การดนตรีทุกชนิด จะเป็นการร้องเพลงหรือการบรรเลงใดใดก็ตาม ล้วนเป็นภาษาของจิตใจ คือความรู้สึกทางอารมณ์ และเป็นภาษาของจิตวิญญาณ    คือสิ่งที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์     เพื่อมนุษย์จะติดต่อและสัมผัสกับพระเจ้าได้
จะมีอะไรดียิ่งกว่าการร้องเพลงและการบรรเลงที่จะช่วยเราให้สัมผัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าได้  อีกทั้งจะเป็นวิธีการที่มนุษย์จะเอาความจริงขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่อยู่ในพระคัมภีร์ หรือคำสั่งสอนต่างๆให้เป็นเพลงสำหรับใช้ร้อง ใช้เป็นการสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าได้      ตามมาตรฐานของการนมัสการที่พระเยซูทรงสั่งไว้
                ดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญสำหรับคริสเตียน การเป็นคริสเตียนของเราจึงขาดจากการดนตรีไม่ได้  คริสเตียนจึงควรจะร้องเพลงที่ศักดิ์สิทธิ์ คือเพลงแห่งจิตวิญญาณและเพลงที่ใช้ในการสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า ถึงแม้ว่าเขาจะร้องเป็นเพลงไม่ได้หรือบรรเลงไม่ได้ เขาก็ควรจะเป็นผู้ที่ชอบเพลงชอบดนตรี และให้การสนับสนุนการดนตรีของคริสตจักร เพื่อคริสตจักรจะได้พัฒนาการดนตรีศักดิ์สิทธิ์ให้ดียิ่งๆขึ้น จะเป็นการร้องเพลงกี่เสียงก็ตาม หรือการใช้เครื่องดนตรีอะไรบ้างนั้น เราสามารถจะใช้ในการสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทั้งสิ้น
                พระธรรมสดุดี คือบทเพลงสรรเสริญของพวกยิวที่ใช้ในการนมัสการ มีหลายตอนที่ระบุไว้ว่า พวกเขาได้ใช้เครื่องดนตรีหลายชนิดหลายประเภทในการนมัสการ ดังเช่นสดุดี บทที่ 150 ซึ่งถ้าเราจะเขียนขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยของเราก็น่าจะว่า

                    จงสรรเสริญพระเจ้าเถิด          จงสรรเสริญพระเจ้า ในสถาน  
                    นมัสการของพระองค์       จงสรรเสริญพระองค์ในพื้นฟ้าอัน
                    อานุภาพของพระองค์     จงสรรเสริญพระองค์ เพราะกิจการ
                    อันอานุภาพของพระองค์      จงสรรเสริญพระองค์ตามความ
                    ยิ่งใหญ่อย่างมากของพระองค์       จงสรรเสริญพระองค์ด้วย
                    เสียงแตร      จงสรรเสริญพระเจ้าด้วยกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า
                    กีตาร์เบส  กีตาร์รีด  จงสรรเสริญพระเจ้าด้วย          คีย์บอร์ด
   อิเลคโทรน  ออร์แกน      เปียโน       จงสรรเสริญพระเจ้าด้วย                   
   กลองชุด   รำมะนา    ด้วยฉาบ ด้วยฉิ่ง    จงสรรเสริญพระเจ้า
                    ด้วยไวโอลีน   ไวโอล่า   ซอด้วง  ซออู้     จงสรรเสริญพระเจ้า
                    ด้วยแคน และโป่งราง   จงให้ทุกสิ่งที่หายใจสรรเสริญพระเจ้า
                    จงสรรเสริญพระเจ้าเถิด                               







คริสตจักรคือที่มาของดนตรีตะวันตก

เพราะเหตุไร ดนตรีในซีกโลกตะวันตกจึงพัฒนาขึ้นมาอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ซึ่งแตกต่างกับดนตรีในซีกโลกอื่นๆ   พระเยซูทรงมีคำตอบสำหรับคำถามนี้ทุกประการ
  ในทุกอารยธรรมและวัฒนธรรม เป็นที่ปรากฏชัดว่า ดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาและในการเซ่นสรวงบูชา เทวดา และภูตผีปีศาจ เช่นเดียวกับที่เรายอมรับกันว่า พวกกรีกและพวกโรมันนั้นเป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้วางรากฐานของศิลปกรรมต่างๆ ได้แก่ประติมากรรมและจิตรกรรม วรรณกรรมและการละคร แต่ดนตรีนั้น เป็นเรื่องของพวกยิวที่ได้วางรากฐานไว้ให้แก่ดนตรีในซีกโลกตะวันตก  จริงอยู่ในการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้า เช่น อพอลโลนั้น  ถึงแม้จะปรากฎว่าได้มีการใช้เครื่องดนตรีชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายพิณ(lyre) ได้ใช้ในการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าของกรีก เช่น อพอลโลก็ตาม แต่ปรากฎว่าพิธีการเซ่นสรวงเหล่านี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการละคร  แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ กล่าวว่า การบวงสรวงเทพเจ้าของกรีกและโรมันเหล่านั้น เป็นจุดที่ทำให้มีการพัฒนาทางดนตรีขึ้น  ที่ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างนั้นก็เป็นเรื่องของวรรณกรรมและปรัชญาคำสั่งสอนเท่านั้น  แต่ในเรื่องของดนตรีแล้วเราไม่มีทางที่จะทราบได้เลยว่า ดนตรีของกรีกและโรมันนั้นเป็นเช่นไร ที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับกรีกและโรมัน มีดนตรีที่ยิ่งใหญ่และเร้าใจ ดังเช่นเรื่องเบนเฮอร์นั้น โปรดเข้าใจด้วยว่านั่นไม่ใช่กรีกหรือโรมัน แต่เป็นจินตนาการของฮอลลีวูด      

            ดนตรีในสมัยคริสเตียนเริ่มแรกนั้นมาจากพวกยิว


ดนตรีของคริสตจักรในสมัยเริ่มแรกนั้น มีรากเหง้ามาจากประเพณีในการนมัสการของพวกยิวในมหาวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม รวมทั้งพระธรรมสดุดีและเพลงที่พวกยิวใช้ร้องกันตามศาลาธรรมที่อยู่ในหมู่บ้านของพวกเขาในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมมีบันทึกถึงเรื่องของดนตรีว่า มีบทบาทสำคัญในชีวิตศาสนาของยิวอยู่มากมาย ที่เราสามารถจะนับได้เฉพาะคำว่าร้องหรือร้องเพลงมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 26 ครั้ง และในภาคพันธสัญญาใหม่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 8 ครั้ง ใน พระธรรม 2 พงศาวดาร 5:12-14 มีบันทึกถึงเรื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีในมหาวิหารไว้ว่า
                    และบรรดาพวกเลวีที่เป็นนักร้องทั้งหมดทั้งอาสาฟ     เฮมาน   
                    และเยดูธูนทั้งบุตรชาย และญาติของเขาทั้งหลายแต่งกายด้วย
                    ผ้าป่านมีฉาบพิณใหญ่ และพิณเขาคู่ยืนอยู่ทางตะวันออกของ
                    แท่นบูชา   พร้อมกับปุโรหิตคนแตรหนึ่งร้อยยี่สิบคน    พวก   
                    คนแตรและพวกนักร้องจะทำให้คนได้ยินเขาทั้งหลาย              ร้อง
                    เพลงสรรเสริญ     และเพลงโมทนาพระคุณเป็นเสียงเดียวกัน
           และเมื่อเขาร้องขึ้นพร้อมกับแตร      และฉาบกับเครื่องดนตรี
           อย่างอื่น ในการถวายสรรเสริญ แด่พระเจ้าว่า  เพราะพระองค์
           ประเสริฐ     เพราะความรักมั่นคงของพระองค์ดำรงเป็นนิตย์
            พระนิเวศ    คือ  พระนิเวศของพระเจ้าก็มีเมฆเต็มไปหมดจน
            ปุโรหิตจะยืนปรนนิบัติไม่ได้ ด้วยเหตุเมฆนั้น  เพราะพระสิริ
            ของพระเจ้าเต็มพระนิเวศของพระเจ้า

นอกจากนั้นเรามีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ดนตรีได้ใช้เป็นส่วนสำคัญในพิธีนมัสการเพื่อถวายมหาวิหารของโซโลมอนอีกด้วย
ในชีวิตประจำวันของชุมชนชาวยิวในครั้งโบราณ ดนตรีก็มีส่วนสำคัญไม่ใช่เฉพาะในธรรมศาลาที่อยู่ตามหมู่บ้านเท่านั้น แต่ดนตรีก็ยังใช้ในการบ้านการเมืองด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าในการปลุกระดมประชาชน ดังเช่น ในพระธรรม 1 ซามูเอล 18:6-10  ที่ว่า

อยู่มา    เมื่อดาวิดกลับมาจากการโจมตีขับไล่คนฟีลิสเตียนั้น
กำลังเดินทางกลับบ้าน พวกผู้หญิงก็ออกมาจากหัวเมือง                   อิสราเอลร้องเพลงและเต้นรำต้อนรับพระราชาซาอูล      ด้วย
รำมะนา ด้วยเพลงร่าเริง และด้วยเครื่องดนตรี    และเมื่อพวก
ผู้หญิงเต้นรำรื่นเริงกันอยู่นั้นก็ขับร้องรับกันว่า   ซาอูลฆ่าคน
เป็นพันๆ และดาวิดฆ่าคนเป็นหมื่นๆ  ซาอูลทรงกริ้วนักคำที่
ร้องกันนั้นไม่เป็นที่พอพระทัยพระองค์เลย   พระองค์ตรัสว่า
 เขาสรรเสริญดาวิดว่าฆ่าคนเป็นหมื่นๆ  ส่วนเราเขาว่าฆ่าแต่
เพียงเป็นพันๆ นอกจากราชอาณาจักรแล้ว  ดาวิดจะได้อะไร
อีกเล่า  ซาอูลก็ทรงใช้สายตา    จับดาวิดตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
อยู่มาในวันรุ่งขึ้นวิญญาณชั่วก็เข้าสิงซาอูล    ซาอูลก็ทรงเพ้อ
อยู่ในวังของพระองค์          ดาวิดก็กำลังดีดพิณอย่างที่เคยดีด
ถวายทุกวันมา

ที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งในพระธรรมตอนนี้ก็คือ ดนตรียังเป็นเหมือนยาวิเศษที่ใช้ในการคลายอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ดังที่ดาวิดได้กระทำ คือเล่นดนตรีถวายให้แก่กษัตริย์ซาอูล ที่กำลังเกรี้ยวกราดเต็มไปด้วยความเกลียดและความเครียดให้บรรเทาลง ในปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า ดนตรีมีประโยชน์อย่างมหาศาลสำหรับสุขภาพจิต   พวกยิวรู้จักเคล็ดลับนี้มานานแล้ว
เราพบจากพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ด้วยว่า  พระเยซูไม่เคยประณามการร้องเพลง  พระองค์ทรงเติบโตขึ้นในท่ามกลางชีวิตและวัฒนธรรมของการดนตรี พระองค์เคยตรัสถึงเครื่องดนตรีไว้หลายแห่ง และเราก็ทราบด้วยว่าพระองค์ร้องเพลง  พระเยซูและศิษย์ของพระองค์ก็ร้องเพลงสดุดี      ดังที่ปรากฏในพระธรรม
มัทธิว 26:30  อันเป็นเพลงที่เชื่อว่าคงจะมาจากพระธรรมสดุดี บทที่ 118 นอกจากนั้นเราพบอีกหลายแห่งในพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะในจดหมายฝากฉบับต่างๆของท่านเปาโล ที่ทำให้เราทราบว่า คริสตจักรที่เกิดขึ้นที่โน่นที่นี่หลังจากพระเยซูคริสต์เจ้าแล้วก็มีการร้องเพลงในคริสตจักรด้วย   ดังเช่น     เอเฟซัส 5:19
โคโลสี 3:16 ยูดาส 16:13 เป็นต้น ในพระธรรมวิวรณ์ เราเห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งยิ่งใหญ่และสง่างาม ล้วนมีเรื่องเกี่ยวข้องกับการดนตรีทั้งสิ้น










มรดกเพลงของพวกยิวส่งต่อให้พวกคริสเตียน


                พวกยิวไม่เพียงแต่มีบทเพลง มีการร้องเพลงและมีเครื่องดนตรีใช้ในการนมัสการที่มหาวิหารเท่านั้น แต่มีหลักฐานที่ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า การดนตรีของพวกยิวในครั้งโบราณนั้น นับว่าได้พัฒนาอยู่แล้วเป็นอย่างดีดังที่ปรากฏว่าในการร้องเพลงที่มหาวิหารนั้น   ก็มีรูปแบบต่างๆ ที่ใช้สำหรับการร้องเพลงด้วย       ซึ่งมีปรากฏ 3 รูปแบบ คือ
1. แบบตรง ( Direct form ) จะมีผู้ที่ร้องเดี่ยวเป็นผู้ร้องจากข้อความใน 
    พระคัมภีร์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับบทสวด ( chant )                                                                                                                           
2. แบบตอบสนองกัน ( Responsorial form ) จะมีนักร้องเดี่ยว ร้องสลับกันกับคณะนักร้องซึ่งเนื้อร้องมาจากตอนหนึ่งตอนใดในพระคัมภีร์          

3. แบบโต้ตอบ (Antiphonal  form) โดยมีคณะนักร้อง 2 คณะ    ร้องโต้        

                    ตอบกัน

รูปแบบทั้งสามนี้พวกคริสเตียนในสมัยเริ่มแรกนำมาใช้ในการนมัสการต่อมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และปรากฏอยู่ในเพลงนมัสการที่เรียกว่าบทสวดของ Gregorian หรือ Gregorian chant ซึ่งมีปรากฏใช้ร้องเป็นเสียงเดียวอยู่แล้วGregorian I เป็นโป๊ปที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ.540-604 โดยเหตุที่คริสตจักรของพวกคริสเตียนนั้น ซึ่งเวลานั้นคือศาสนจักรคาทอลิกได้ทำหน้าที่เป็นสายใยที่สืบต่อเนื่องกันเรื่อยมาของวัฒนธรรมในยุโรปเป็นเวลานานหลายศตวรรษ โดยเหตุนี้ดนตรีของตะวันตกนั้น     จึงเริ่มต้นขึ้นมาจากดนตรีที่ใช้ในคริสตจักร


บทบาทสำคัญของ Gregorian the Great ที่มีต่อดนตรี

ยุคสมัยของ Gregorian  the  Great  นั้น      ถือว่าเป็นช่วงเวลาของเพลง คลาสสิคยุคที่หนึ่งในประวัติของดนตรีตะวันตก โดยเหตุที่บทสวดในการนมัสการของคริสเตียนนั้น อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ควบคุมโดยคริสตจักรแห่งโรม ดังนั้น จึงมีรูปแบบของเพลงสวดเหล่านี้ดำรงคงอยู่ได้นาน   ดังที่รู้จักกันดี เช่น บทสวด (chants) ของ Gregorian การปฏิรูปบทสวดที่ใช้ในการนมัสการนั้นส่วนใหญ่เป็นผลงานของ Gregorian ที่ 1 (The Great)  พระองค์เป็น โป๊ป ระหว่างปี ค.ศ. 590 -  604  พระองค์เป็นผู้วางโครงสร้างระเบียบนมัสการเสียใหม่ แล้ว  กำหนดให้ชัดเจนว่า ระเบียบนมัสการใดที่ใช้สำหรับการนมัสการ ใดตลอดทั้งปีและได้แต่งทำนองใหม่ใส่ไปด้วย ในเวลาต่อมาคริสตจักรได้นำเอารูปแบบของดนตรีนี้มาพัฒนาเป็นพื้นฐานของดนตรีในโลกคริสเตียน เป็นที่ยอมรับกันในยุคกลางของประวัติศาสตร์ยุโรปว่า Gregorian ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์    ซึ่งท่านมีผลงานมากมายอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาดนตรี
คริสตจักร
ในช่วงระยะเวลาเช่นนั้น ดนตรีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนศาสตร์โดยตรง การพิจารณาว่าดนตรีจะดีหรือไม่นั้นก็อยู่ที่ว่า ในการร้องเพลงนั้นสิ่งสำคัญคือเสียงที่ออกมานั้นคือ ความสามารถที่จะเทิดทูนสรรเสริญพระเจ้าหรือไม่ ดนตรีเป็นอุปกรณ์เครื่องมือหรือเป็นผู้รับใช้พระวจนะ




การเกิดของโน้ตดนตรี

ผลงานของนักบวชท่านหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างศตวรรษที่ 11 มีนามว่าท่าน Guido แห่ง Arezzo  (C. 995 - 1050 ) เป็นนักบวชคาทอลิกอยู่ในคณะ  เบเนดิกนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาดนตรีของโลกตะวันตก แท้จริงท่านก็คือบิดาของโน้ตดนตรีสมัยใหม่ที่เรารู้จักและใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ท่านผู้นี้ท่านต้องการที่จะให้ลูกศิษย์ของท่านจำโน้ตดนตรีได้ขึ้นใจซึ่งก็คือตัว c-d-e-f-g-a. ดังนั้นท่านจึงเอาเนื้อร้องที่มาจากบทเพลงนมัสการบทหนึ่งชื่อว่าUt Queant Laxis,” ซึ่งเป็นเพลงที่รู้จักกันดีของพวกคริสเตียนในสมัยนั้น มีเนื้อหามาจากพระกิตติคุณยอห์น แล้วท่านก็สร้างสัญลักษณ์ใส่ไว้ในเนื้อร้องนั้น เพื่อช่วยในการจดจำเนื้อร้องนั้นให้ได้ขึ้นใจ เนื้อร้องเพลงในสมัยนั้นเป็นภาษาละติน ดังนี้  
Ut queant laxis Resonare fibris
Mlre gestorum Famuli tuorum
SOLve pollutes Labiis reatum
Sancte Iohannes
    

พยางค์แรกของคำของวลี ทั้ง6 ครั้ง ได้กลายเป็นชื่อของตัวโน้ตที่เรารู้จักและใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ดังเช่น “ut” “re” “mi” “fa” “sol” “la” เสียงเหล่านี้เราใช้สำหรับอ่านโน้ตกันและใช้ในการสอนร้องเพลงกันทั่วโลก ที่เปลี่ยนไปจากเดิมก็มีเพียงที่เดียวคือ จาก “ut” เป็น “doh” แล้วได้เพิ่ม เสียง “ti” ไว้หลัง “la”   

ท่านGuido แห่งArezzo ก็ยังได้พัฒนาให้ตัวโน้ตมีความละเอียดละออ ยิ่งขึ้นด้วยโดยการกำหนดเสียงสูงเสียงต่ำให้กับตัวโน้ตด้วย นับแต่จากนั้นเป็น ต้นมา ดนตรีของซีกโลกตะวันตกจึงพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจากงานของนักบวชผู้นี้ และในที่สุด การร้องเพลงก็ร้องตามโน้ตเพลงซึ่งแต่ดั้งเดิมนั้นการร้องเพลงเป็นการร้องตามความจำที่สอนกันต่อๆมา นี่คือบทบาทสำคัญที่คริสต์ศาสนา      และ

คริสเตียนที่มีต่อการวางรากฐานให้แก่ดนตรีตะวันตก ไม่ต่างอะไรกับการที่เรามีอักษรไว้สำหรับใช้ในการเขียนหนังสือนั่นเอง ถึงแม้ว่าในเวลานั้นก็มีเพลงที่ร้องกันทั่วไปในชุมชนหรือในสังคมที่อยู่นอกคริสตจักรด้วยก็ตาม    แต่เพลงที่ใช้กันในคริสตจักรเท่านั้นที่ได้รับการอนุรักษ์และรักษาไว้ได้ต่อๆกันมา โดยใช้โน้ตดนตรี ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ดนตรีคริสตจักรที่รู้จักกันทั่วโลก จึงเป็นเพลงเป็นดนตรีที่มาจากตะวันตกอันเป็นประวัติศาสตร์คริสจักรอันยาวนานนับร้อยๆ ปี เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าดนตรีของซีกโลกตะวันตกนั้นมีพื้นฐานและพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนเป็นอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วรากฐานสำคัญเป็นผลสืบเนื่องมาจากดนตรีคริสตจักรนั่นเอง

ทั้งนี้ก็เนื่องจากนักบวชในคริสต์ศาสนาที่ชื่อว่า     Guido แห่ง Arezzo    ท่านมีชีวิตอยู่ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ซึ่งถือได้ว่า จากจุดนี้เองที่ทำให้ดนตรีของตะวันตกกำเนิดเกิดขึ้นมีรูปแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้  ในที่นี้จะยกมาให้เห็นถึงการพัฒนาดนตรีตะวันตกไว้ที่สำคัญๆ 3 ประการ

1.โดยเหตุที่มีโน้ตดนตรีนี้เอง จึงสามารถที่จะแต่งทำนองเพลงได้ และ  ดนตรีจึงสามารถที่จะบันทึกเก็บรักษาไว้ได้ บนแผ่นกระดาษเมื่อยังไม่ได้บรรเลงหรือร้องกัน สามารถที่จะเขียนเพลงเหล่านั้นด้วยตัวโน้ต และสามารถใช้สำหรับการเรียนการสอนได้เช่นเดียวกับการที่จะอนุรักษ์ไว้

2. จังหวะจะโคน กฎระเบียบ และตรรกะ   นั่นก็คือที่เราเรียกว่าทฤษฎี                           

    ดนตรีนั้นเอง ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากตัวโน้ตดนตรี

   3. การประสานเสียง (Harmony ) แบบ  Polyphonic คือ การร้องหรือบรรเลงหลายๆ ทำนอง ( Melody ) พร้อมกันตั้งแต่ 2 ทำนอง ขึ้นไป
ซึ่งพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และต่อมาก็เป็นการประสานเสียง

การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของดนตรีตะวันตกนั้น เกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นลำดับเรื่อยมา แต่จุดเริ่มต้นนั้นมาจากพื้นฐานที่เกิดขึ้นในคริสตจักร การพัฒนาที่ได้เริ่มต้นไว้นั้นได้เป็นไปอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา จนได้มาถึงการค้นพบใหม่ คือในคริสตศตวรรษที่ 16 ได้ค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการแสดงออกและมีเทคนิคใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปิดโฉมหน้าใหม่ของโลกดนตรี
                ตลอดสมัยยุคกลางของยุโรป คริสตจักรก็ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำในการพัฒนาดนตรีอยู่โดยทางผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักร้อง (Choir Master) ที่นับว่าสำคัญอย่างยิ่งก็คือ ที่มหาวิหาร Notre Dame ในกรุงปารีส โน้ตดนตรีนั้นได้พัฒนาให้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของจังหวะและระดับเสียง จากสำนักนักร้องแห่ง Notre Dame นี้เองจึงได้เกิดหนังสือเพลง (Motet) ที่ใช้สำหรับนักร้องขึ้น จากหนังสือนี้เองที่ทำให้มีโน้ต 4 เสียงขึ้น คือ Soprano Alto Tenor Bass  หนังสือเพลงนักร้องนี้ได้แพร่หลายออกไปทั่วยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 13 โดยเริ่มต้นจาก 2 เสียง  ต่อมาก็เป็น  3 เสียง แล้วจึงเป็น 4 เสียงในที่สุด
                ในช่วงเริ่มต้น การประสานเสียง ( Polyphonic ) นั้น ล้วนเป็นเพลงที่ใช้ในคริสตจักรทั้งสิ้น แต่เมื่อพัฒนาขึ้นภายหลัง การประสานเสียงก็ได้ใช้กันทั้งในเพลงทั่วไปและเพลงของคริสตจักรด้วย ในศตวรรษต่อๆ มาดนตรีได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเรื่องของรูปแบบของดนตรีและดนตรีก็มีบทบาทสำคัญกว้างขวางยิ่งขึ้น   นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ดนตรีทั่วๆ ไปหรือดนตรีฝ่ายโลกนั้น ก็เริ่มเฟื่องฟูขึ้นด้วย และได้เข้าไปเติบโตอยู่ในพระราชวังรวมทั้งในมหาวิหารและปราสาททั่วทั้งยุโรป  มีรูปแบบของดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เพลงที่ใช้ร้องหมู่โดยไม่มีเครื่องดนตรี (Madrigal) และเพลงที่ยาวๆ ที่มีทำนองเพลงซึ่งบรรเลงกลับไปกลับมา (Rondeau) ดังเช่น Concerto เป็นต้น เทคนิคเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นดนตรีที่ซับซ้อนอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้


ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ  (Renaissance) และ
ยุคการปฏิรูปศาสนา (Reformation )


          ถึงแม้ว่าหนังสือเพลงซึ่งโน้ตดนตรีนั้นเขียนด้วยมือ จะมีใช้กันมาก่อนที่จะมีเครื่องพิมพ์แล้วก็ตาม แต่การกำเนิดเครื่องพิมพ์ Gutenberg ขึ้น ในประเทศเยอรมันโดยท่าน Johannes Gutenberg (1397-1468 ) เป็นประดิษฐ์กรรมที่ทำให้หนังสือเพลงแพร่หลายออกไปกว้างขวาง แต่ยังไม่แพร่หลายไปถึงประชาชนคนธรรมดามากนัก เมื่อมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือ Renaissance (c.1400-1600)  ดนตรีได้เริ่มต้นที่จะเป็นอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อร้อง มีการใช้เครื่องดนตรีที่หลากหลายและดนตรีก็ได้กลายเป็นเพลงที่แต่งขึ้นให้มีลักษณะของเพลงประจำถิ่นมากขึ้น นับแต่บัดนั้นมาดนตรีและคริสตจักรจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องผูกพันกันต่อไป    ถึงแม้ว่าพื้นฐานของดนตรีนั้นจะเกิดขึ้นจากคริสตจักรก็ตามในยุคสมัยเดียวกันนี้เพลงที่แต่งขึ้นดังเช่นงานของนักแต่งเพลงชาวอิตาเลียน ซึ่งไม่ใช่นักบวชชื่อ Palestrina (C.1525-94)ก็มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับชีวิตคริสเตียนเป็นส่วนมาก ท่านได้วางรากฐานหรือต้นแบบการแต่งดนตรี Polyphonic ให้คนรุ่นหลังต่อๆ มาได้ศึกษากัน เรียกว่า สไตล์เก่า ( Stile Antico ) หรือ สไตล์เข้มงวด ( Stile Grave )
                พร้อมๆ กับการปฏิรูปศาสนา ( Reformation ) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1517  มีดนตรีเกิดขึ้นอีกมากมายในคริสตจักร ท่าน Martin Luther ( 1483-1546) ผู้นำในการปฏิรูปศาสนา เป็นผู้ที่รักดนตรีอย่างยิ่ง ท่านเป็นนักประพันธ์เพลงและมีความสามารถในการเล่น  Lute   ซึ่งต่อมาเครื่องดนตรีนี้ก็ได้กลายเป็นกีตาร์ที่เรา
รู้จักกันทุกวันนี้ ท่านยังเป็นผู้ที่เริ่มต้นให้ที่ประชุมหรือผู้ที่มานมัสการนั้นมีส่วนร่วมในการร้องเพลงที่โบสถ์อีกด้วย เพลงนมัสการซึ่งที่ประชุมใช้ร้องกันได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญในโบสถ์ของประเทศเยอรมัน
              ท่าน Luther เองก็ได้ประพันธ์เพลงไว้หลายบท ที่เรารู้จักกันดีก็คือเพลงองค์พระเจ้าทรงเป็นป้อมปราการ ( บทที่ 159 ในเพลงไทยนมัสการ ) ท่านLutherได้ดัดแปลงเพลงที่ร้องกันทั่วๆไป ให้เหมาะสมที่จะให้เป็นทำนองที่จะใช้ได้ในโบสถ์ดังเช่น เพลงรัก ซึ่งมีชื่อเสียงประพันธ์โดย Hans Leo Hassler ได้ดัดแปลงให้เป็นเพลงนมัสการพระเจ้านั่นก็คือ เนื้อร้องของเพลง พระเศียรวิสุทธิ์แสนปวดร้าว (บทที่ 86 ในเพลงไทยนมัสการ) เพลงในสมัยของการปฏิรูปศาสนานั้นมีมากมาย ท่าน Luther เองประพันธ์เพลงขึ้นเพื่อให้ที่ประชุมในโบสถ์ใช้ร้องกันท่านพยายามที่จะใช้เพลงสำหรับหมู่ชนที่อ่านและเขียนไม่ได้  ให้รู้จักกับคำสอนอันเป็นพื้นฐานแห่งความเชื่อโดยใช้บทเพลง



สมัย Baroque

                ดนตรีของยุค Baroque ระหว่าง คริสตศตวรรษที่ 17 ได้ก้าวไปสู่ยุคที่สุดยอด โดยชีวิตและงานของท่านคีตกวีผู้มีชื่อเสียงแห่งยุคคือ Johann Sebastian Bach (1685 – 1750) และ George Frederic Handel (1685 – 1759) บุรุษผู้เรืองนามทั้งสองนี้เป็นคริสเตียนที่เคร่งครัด ดนตรีของท่านทั้งสองซึ่งยิ่งใหญ่นั้นล้วนประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นการถวายเกียรติแด่องค์พระเยซูคริสต์เจ้า ท่าน Handel มีผลงานอันเป็นที่จับใจและเป็นพระพรแก่คนนับล้านๆ คน ที่นับว่ายิ่งใหญ่ก็คือเพลง Messiah ที่ท่านประพันธ์ขึ้นในปี 1741 ได้นำออกแสดงครั้งแรกในปี 1742 ท่านประพันธ์เพลงยิ่งใหญ่บทนี้โดยใช้เวลาไม่ถึง 25 วัน ท่านมีความรู้สึกว่าในขณะนั้น พระวิญญาณของพระเจ้าได้สถิตและทรงนำท่านในขณะนั้น ระบบของ      เมเจอร์และไมเนอร์ในดนตรีซึ่งก่อเกิดขึ้นในยุคสมัยของ Baroque โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของท่าน Bach นั้น ( Well Tempered Clavier ) ได้เป็นพื้นฐานอันสมบูรณ์ที่สุดสำหรับดนตรีที่เกิดขึ้นภายหลัง
                บาทหลวงคาทอลิกชาวอิตาลีท่านหนึ่งที่มีนามว่า Antonio Vivaldi         (C.1680 – 1741) เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นบิดาแห่งดนตรียุค Baroque ของอิตาลี ท่านผู้นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าบาทหลวงแดง เพราะท่านมีผมสีแดง บาทหลวง Vivaldi ได้รับอนุญาตให้หยุดพักในหน้าที่ของพระเพราะท่านเป็นโรคหืดรุนแรง จึงทำให้ท่านมีเวลาให้แก่ดนตรีได้อย่างเต็มที่ ท่านทุ่มเทให้กับการฝึกซ้อมดนตรี ให้กับการเป็นผู้อำนวยเพลงของนักร้อง เป็นผู้ประพันธ์เพลงและเป็นครูสอนดนตรี อิทธิพลของท่านนั้นมากมาย บทเพลงที่ท่านแต่งขึ้นสำหรับวงดนตรีเครื่องสายนั้น   นับว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่   งานดนตรีของท่านนั้นยิ่งใหญ่ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขึ้นในดนตรีประเภท Concerto ที่มีนักร้องเดี่ยวหรือนักร้องหมู่  Vivaldi เป็นผู้ที่ทำให้ดนตรีสามารถมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของจังหวะตรรกะ และความคิดความเข้าใจในเรื่องของดนตรี สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นอิทธิพลต่อ Johann  Sebastian  Bach  โดยท่านได้นำเอาแบบอย่าง Concerto ของ Vivaldi มาจัดรูปแบบเสียใหม่ให้ใช้สำหรับเล่นกับดนตรีหลายชนิดและจาก Concerto ของ Vivaldi นี้เองที่เป็นแบบอย่างของรูปแบบที่ได้รับการนิยมกันใน ยุโรป อีกหลายศตวรรษต่อมา


งานยิ่งใหญ่ของ Johann Sebastian Bach

                ผู้ที่มีความรู้ทางดนตรีเป็นจำนวนมากต่างลงความเห็นว่า Bach เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมา อัจฉริยภาพของท่านนั้นไม่มีผู้ใดที่อาจเทียบเคียงได้  ท่านไม่ได้เป็นเพียงพ่อที่น่ารักของลูก 23 คนเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นพ่อที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งด้วย นั่นก็คือท่านเป็นบิดาของดนตรีสมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นต่อมาอีกถึง 3 ศตวรรษ นักวิจารณ์ดนตรีผู้หนึ่งลงความเห็นว่าแท้จริงแล้วท่านไม่ได้สร้างรูปแบบดนตรีขึ้นมาใหม่ แต่ในทางตรงกันข้ามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดนตรีรูปแบบใดใดก็ตามที่ท่านแตะต้องแล้วละก้อจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันว่า ท่านคือคนสุดท้ายที่คำพูดของท่านเป็นประดุจคัมภีร์ที่ยึดถือเป็นหลักเป็นฐานได้ เทคนิคที่ Bach ได้ใช้กับ Fugue และ Contrapuntal  นั้นก็คือรากฐานของดนตรีอีกประเภทหนึ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่าดนตรีคลาสสิก  จากรากฐานนี้เองที่ทำให้เกิด Concertos  Sonatas Quartets Symphonies  นับตั้งแต่สมัยของท่านมาแล้ว ที่ได้เริ่มใช้แบบฝึกหัดในการเรียนดนตรีที่เขียนขึ้นสำหรับการสอนโน้ต และสอนไวโอลีน ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทฤษฎีดนตรี และใช้ในการฝึกซ้อม  ลูกชายของBach 4 คน เป็นผู้ที่มีส่วนช่วยในงานของพ่อเป็นอย่างมาก ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องสงสัยว่า  Johann Sebastian Bach  นั้นเป็นคริสเตียนหรือไม่ ท่านเป็นคริสเตียน และเป็นคริสเตียนที่อยู่ในทุกอณูของชีวิต  ท่านเป็นผู้ที่เข้มแข็งอยู่ในนิกายลูเธอร์แรนท์แบบดั้งเดิมหรือออโธด๊อกซ์  เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง มีผู้พบว่าในห้องสมุดของท่านนั้น  มีงานของท่านที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อคริสเตียนอยู่ถึง 83  เล่ม ท่านเก็บงานของท่าน Luther ไว้ทั้งหมดด้วย  และงานศาสนาอื่นๆ ในภาษาเยอรมัน Bach  เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในคำสอนของคริสต์ศาสนา แท้จริงแล้วสิ่งที่พบในเพลงต่างๆ และงานวรรณกรรมของท่าน มีปรากฏให้เห็นได้ชัดว่า ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะจากโลกนี้ไปอยู่กับพระคริสต์ซึ่งตรงกับที่ท่านเปาโลได้เคยสอนไว้ว่า เป็นสิ่งที่ท่านเห็นว่าดียิ่งกว่าสิ่งใดหมด ดังตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ใน Cantata 140  “Wachet Auf“ ในภาษาอังกฤษแปลว่า Sleepers, Awake  ศาสตราจารย์ทางดนตรีที่มหาวิทยาลัย Tulane ได้กล่าวไว้ว่าตัวโน้ตทุกตัวของ Bach  นั้น ล้วนเขียนขึ้นเพื่อเป็นที่ถวายพระเกียรติแด่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าทั้งสิ้น ท่าน Bach  เป็นผู้ที่สำนึกตลอดเวลาว่าการเป็นคริสเตียนนั้นมีความหมายอย่างไร มีนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์หลายท่านเปิดเผยให้เราได้ทราบว่า ในหนังสือเพลงของท่านนั้น ทุกเล่มข้างบนปกหน้ามีเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์เขียนไว้ว่า S.D.G. อักษรทั้งสามนี้มีความหมายที่ Bach ต้องการจะกล่าวว่า Soli Deo Gloria แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Solely  To The  Glory of God หรือในภาษาไทยว่าพระเกียรติจงมีแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น  ในบางแห่งนั้น มีอักษรที่เป็นสัญลักษณ์เขียนไว้ว่า J. J. ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Jesu Juban แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Help me Jesus หรือเป็นภาษาไทยที่ว่า พระเยซูทรงช่วยฉัน  บทประพันธ์ดนตรีของท่านนั้นมักจะเขียนขึ้นเพื่อเป็นการถวายแก่พระเยซู โดยที่ท่านได้เขียนอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ไว้บนโน้ตเพลงว่า I.N.J. ซึ่งมาจาก In Nomine Jesu     ในภาษาอังกฤษคือ In the name of  Jesus หรือภาษาไทยที่ว่า ในพระนามของพระเยซูคริสต์เจ้า   อักษรย่อภาษาละตินนี้ มีเขียนไว้บนต้นฉบับเพลงของท่านทั้งหมด ท่านอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ของท่านว่า  นอกจากพวกเขาทุกคนจะถวายตะลันต์หรือความสามารถแด่องค์พระเยซูคริสต์เจ้าเท่านั้น พวก เขาจึงจะเป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่ได้ การที่เป็นนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่นั้น สำหรับ Bach หมายความว่า  เป็นการนมัสการพระเจ้า
                ด้วยอิทธิพลของ Bach ที่แพร่ขยายอยู่อย่างกว้างขวางนั่นเองเป็นเหตุให้ Beethoven (1770-1827)  ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังในงานของ Bach  ท่านยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือนักดนตรีเอกอื่นๆ เช่น Haydn (1732-1809) Mozart (1756-91) Mendelssohn ( 1809-47)   Chopin ( 1810-49 )  Wagner (1813-83 ) Brahms ( 1833-97)  และอีกมากมาย
                Bach เป็นยอดสุดของดนตรี Baroque  ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้แก่ดนตรีแบบอื่นๆ ที่ตามมาภายหลัง ท่านเป็นคนแรกที่เล่นเครื่องดนตรีคีย์บอร์ดโดยใช้5 นิ้ว  เกือบไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่อยู่ก่อนท่านนั้นเล่นคีย์บอร์ดโดยใช้นิ้วเพียง 3 นิ้ว ส่วนท่าน Bach นั้น ยังสามารถที่จะเล่นด้วยนิ้วโป้งและนิ้วก้อยอีกด้วย
                ท่าน Bach ยังเป็นผู้ริเริ่มในการใช้ “Well – tempered”  เพื่อว่าไม่ว่าจะเป็นจุดใดของเปียโนหรือออแกน จากโน้ตตัวใดก็ตาม นั่นก็คือนักดนตรีเริ่มต้นสเกลได้ซึ่งไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ ก่อนหน้านี้ท่านได้รับยกย่องจาก          นักวิจารณ์ดนตรีซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่า Bach มีความสำคัญสำหรับดนตรีเช่นเดียวกันกับที่ Shakespeare มีความสำคัญสำหรับวรรณคดีภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งสองนั้นต่างก็เป็นยอดศิลปินและที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ท่านทั้งสองต่างก็เป็น คริสเตียน
                ถึงแม้ว่า Bach จะมีอิทธิพลมากมายเช่นนั้นก็ตาม แต่ดนตรีของท่านนั้นมิได้นำออกใช้หรือแสดงเป็นเวลาเกือบศตวรรษ   จนกระทั่ง  Felix Mendelsohn 
(1809–1847) ซึ่งเป็นนักดนตรีคริสเตียนผู้เคร่งครัดอีกท่านหนึ่งได้นำเอาคีตนิพนธ์เรื่อง  St. Mathew Passion   ของ Bach ออกแสดงที่นคร  Berlin   ในปี ค.ศ. 1829 ทำให้ดนตรีของ Bach ฟู่ฟ่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและแพร่หลายไปทั่วโลก

ดนตรีตะวันตกหลังสมัยของ Bach

นักดนตรีเอกหลายๆ ท่านที่โด่งดังอยู่ในสมัยของคลาสสิคและโรแมนติก เป็นจำนวนมากที่เป็นคริสเตียน ถึงแม้มีอีกมากในระยะหลังๆ   ที่ไม่ใช่คริสเตียน
ก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่ามีความสำคัญมากนักสำหรับประวัติศาสตร์ดนตรีคริสตจักร ทั้งนี้ก็เพราะเรื่องสำคัญนั้นคือรากฐานของดนตรีตะวันตกนั้น และรวมทั้งการที่ดนตรีพัฒนาขึ้นมา   ก็โดยอาศัยรากฐานที่คริสตจักรได้วางไว้มาเป็นเวลานาน
                ทุกวันนี้ดนตรีของโลก โดยเฉพาะที่งอกงามและแพร่หลายมาจากแนวทางดนตรีตะวันตกนั้น ได้แตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากมาย มีจังหวะจะโคน มีเครื่องดนตรีและมีวิธีร้องด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งไม่มีอะไรจำกัดที่ว่ามาจากตะวันตกหรือจากรกรากดนตรีคริสตจักรอีกต่อไป และอาจจะกล่าวได้ว่าจังหวะใหม่ๆ และการใช้สุ้มเสียงนั้นเอามาจากมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เวลานี้เป็นสมัยของ cyber space ที่มนุษย์สื่อสารพูดจากันโดยคอมพิวเตอร์ เป็นเหตุให้การดนตรีทุกอย่างทุกชนิดกำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย ครั้งหนึ่ง Pipe Organ เป็นยอดแห่งเครื่องดนตรีของโลกที่ใช้ในการนมัสการในโบสถ์  ซึ่งก็เป็นความภูมิใจของคริสตจักรนั้นๆ   ที่จะยอมลงทุนติดตั้งในโบสถ์แม้จะมีค่าใช้จ่ายมากมายก็ตามเพื่อเป็นหน้าเป็นตาของคริสตจักรนั้นๆ  แต่วันนี้เครื่องดนตรีที่เราพบในโบสถ์นั้นคือวง String Combo การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมายในทุกวงการ คนในสมัยนี้จึงพยายามที่จะปรับตัวให้ทันสมัยในวิถีชีวิตต่างๆ แม้แต่ในเรื่องของศาสนา เพื่อมิให้เป็นผู้ที่ตกยุคตกสมัย หรือถูกเบียดออกนอกวิถีแห่งชีวิตของโลกปัจจุบันไป ใครๆ ก็หนักใจว่าที่จะทำให้ทันสมัยนั้น จะทำอย่างไรและผิดหรือถูกอย่างไร  แต่สำหรับคริสตจักรหรือคริสเตียนนั้น ไม่มีอะไรที่จะต้องหนักใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลง  เพราะดนตรีหรือเพลงที่เราร้องนั้นจะเหมาะสมกับยุคสมัยเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า  จงร้องเพลงบทใหม่ถวายพระเจ้า ( สดุดี 40:3)
                และก็ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องร้องเพลง คำตอบก็คือ เพราะ          พระองค์ทรงบรรจุเพลงใหม่ในปากข้าพเจ้า นั่นเอง








แนวคำถามสำหรับอภิปราย

1.             ที่ว่าดนตรีไม่เป็นพิษเป็นภัย หรือเป็นความบาป แต่การใช้ดนตรีในทางที่ผิดต่างหากที่เป็นบาป ข้อความนี้จริงหรือไม่ ให้ช่วยกันชี้แจงและหาเหตุผล รวมทั้งยกตัวอย่าง

2.             คริสเตียนสนใจและร้องเพลงอื่นๆ ผิด หรือเป็นความบาปหรือไม่

3.             เราสามารถที่จะสัมผัสกับพระเจ้าหรือเข้าถึงพระเจ้าได้ โดยทางดนตรีนั้น จริงหรือไม่ ให้ยกตัวอย่างและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

4.             เพลงนมัสการที่เราร้องกันในโบสถ์นั้น  มีอิทธิพลในชีวิตคริสเตียนอย่างไรบ้าง ให้พิจารณาดังต่อไปนี้

4.1 ยกตัวอย่างเนื้อเพลงซึ่งเป็นคำสอนที่ดีที่ทำให้เราเข้าใจศาสนศาสตร์ในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องพระเจ้า พรเยซูคริสต์ สวรรค์และนรก เป็นต้น
                        ยกตัวอย่างข้อความที่มีอยู่ในเพลงนมัสการหรือเพลงสั้น รวมทั้งเพลงเด็กๆ ที่เป็นคติประจำใจ เป็นข้อเตือนใจ เป็นอุดมคติในการดำเนินชีวิตของเรา เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิตประจำวัน  ให้ยกตัวอย่างและแบ่งปันประสบการณ์ของกันและกัน

5.             มีบางคริสตจักร หรือบางคำสอน ที่เชื่อว่า การร้องเพลงหรือถวายเพลงในการนมัสการนั้น จะต้องทำโดยไม่มีเครื่องดนตรีใดใด ท่านเข้าใจอย่างไร และจงอธิบายความเชื่อของท่านในเรื่องนี้

6.             ท่านเคยทราบเรื่องเพลง Messiah บ้างหรือไม่ เป็นเพลงที่แต่งโดยใครมีความยิ่งใหญ่ขนาดไหน ให้เล่าสู่กันฟังว่า เพลงนี้มีความยิ่งใหญ่อย่างไรบ้างในประเทศไทย

7.             ดนตรีเป็นสิ่งที่ขาดจากการนมัสการของคริสเตียนไม่ได้ คริสตจักรจะต้องมีดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อต่อไปนี้

7.1      เครื่องดนตรีที่ควรจะใช้ในการนมัสการที่คริสตจักร ควรจะ   
          เป็นเครื่องดนตรีอะไรบ้าง
                                    ท่านควรจะส่งเสริมลูกหลานของท่าน ให้สามารถเล่นดนตรีได้และวันหนึ่งเขาจะเป็นนักดนตรีของคริสตจักรนั้น ท่านเห็นด้วยหรือไม่
                                    ถ้าดนตรีมีความสำคัญอย่างมาก จนขาดเสียมิได้ในการนมัสการแล้ว คริสตจักรของท่านได้จัดให้มีโอกาสที่จะพูดหรือสอน ให้สมาชิกเข้าใจถึงดนตรีคริสตจักรบ้างหรือไม่   ถ้าจะให้มีการอบรมในเรื่องนี้เกิดขึ้นในคริสตจักร ท่าน                   ควรทำอย่างไร

8.             มีปัญหาเกิดขึ้นในคริสตจักรทุกแห่งหน และกำลังจะกลายเป็นปัญหาที่กระทบกระเทือนการนมัสการคริสตจักรในเวลาต่อไปคือ อนุชนหรือคนรุ่นใหม่ ร้องได้แต่เพลงที่เรียกว่า เพลงสั้น และไม่สามารถจะร้องเพลงนมัสการได้ ให้อภิปรายดังต่อไปนี้

8.1 ปัญหานี้เกิดขึ้นในคริสตจักรของท่านหรือไม่ เป็นเรื่องร้ายแรงเพียงไร
                                    ท่านเห็นว่าควรจะมีการแก้ไขหรือไม่ เพราะอะไร
                                    จะมีวิธีอะไร ที่จะให้เพลงทุกชนิดที่เราใช้ในคริสตจักรนั้น เป็นที่พอใจและเป็นพระพรแก่ทุกรุ่นทุกวัยอย่างทั่วถึง ให้ช่วยกันหาวิธีแก้ไข


































No comments:

Post a Comment